วันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

            

วัฒนธรรมอีสานบ้านของเฮามีพร้อมความสุข สนุกสนนานอย่างครบครัน

 


 
กิจกรรมและความสามัคคีของคนอีสาน

  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(ภาคอีสาน) มีเนื้อที่มากที่สุดของประเทศไทย ประมาณ 170,226 ตารางกิโลเมตรหรือมีเนื้อที่หนึ่งในสามของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศไทย ดังนั้น วัฒนธรรมประเพณีของชาวอีสานจึงมีความหลากหลายและแตกต่างกันไป

             สิ่งที่ช่วยบอกเล่าเรื่องราวความเชื่อค่านิยม ศาสนา รูปแบบการดำเนินชีวิต ตลอดจนการประกอบอาชีพของคนในแต่ละท้องถิ่นได้เป็นอย่างดีที่ได้ร่วมกันสืบทอดมายาวนาน นั่นคือ ฮีตสิบสองหรือจารีตประเพณีประจำสิบสองเดือน ซึ่งจะถูกจัดขึ้นในทุกๆ เดือน ตามวาระและโอกาสสำคัญ เพื่อชาวบ้านจะได้มาร่วมชุมนุมและทำบุญในทุกๆ เดือนของรอบปี และถือเป็นจรรยาของสังคม ถ้าผู้ใดฝ่าฝืนก็จะถือว่า ผิดฮีต หรือ ผิดจารีต นั่นเอง
 
              เริ่มต้นที่เดือนเจียงหรือ เดือนอ้าย มีการประกอบพิธีบุญเข้ากรรมซึ่งเป็นเดือนที่พระสงฆ์เข้ากรรม (ปริวาสกรรม) เพื่อให้พระสงฆ์ผู้กระทำผิดได้สารภาพต่อหน้าคณะสงฆ์ ขณะเดียวกันชาวบ้านก็จะมีการทำบุญเลี้ยงผีต่างๆ และเมื่อถึง เดือนยี่ ซึ่งเป็นฤดูหลังการเก็บเกี่ยว ชาวบ้านจะทำบุญคูณข้าวหรือบุญคูณลาน โดยนิมนต์พระสวดมนต์เย็น เพื่อเป็นมงคลแก่ข้าวเปลือก


ขณะที่เดือนสามในมื้อเพ็ง หรือ วันเพ็ญเดือนสาม จะมีการทำบุญข้าวจี่และบุญมาฆบูชาการทำบุญข้าวจี่จะเริ่มตอนเช้า โดยใช้ข้าวเหนียวปั้นใส่น้ำอ้อยนำไปจี่บนไฟอ่อนแล้วชุบด้วยไข่ เมื่อสุกแล้วนำไปถวายพระ จากนั้นก็จะเป็นการทำบุญพระเวสฟังเทศน์มหาชาติ เดือนสี่ โดยในงานบุญนี้มักจะมีผู้นำของมาถวายพระซึ่งเรียกว่า "กัณฑ์หลอน" หรือถ้าจะถวายเจาะจงเฉพาะพระนักเทศน์ที่ตนนิมนต์มาก็จะเรียกว่า "กัณฑ์จอบ" ถัดมาที่เดือนห้า ประเพณีตรุษสงกรานต์ หรือบุญสรงน้ำ หรือบุญเดือนห้า ซึ่งมีขึ้นในวันขึ้น15 ค่ำ เดือนห้า และถือเป็นเดือนสำคัญ เพราะเป็นเดือนเริ่มต้นปีใหม่ไทย ส่วน เดือนหก ประเพณีบุญบั้งไฟและบุญวันวิสาขบูชาเป็นการทำบุญขอฝน พร้อมกับงานบวชนาค ซึ่งการทำบุญเดือนหกถือเป็นงานสำคัญก่อนการทำนา หมู่บ้านใกล้เคียงจะนำเอาบั้งไฟมาจุดประชันขันแข่งกัน หมู่บ้านที่รับเป็นเจ้าภาพจะจัดอาหาร เหล้ายามาเลี้ยงด้วยความสนุกสนาน คำเซิ้งและการแสดงประกอบจะออกไปในเรื่องเพศ แต่จะไม่คิดเป็นเรื่องหยาบคาย สำหรับฮีตเดือนเจ็ดนั้นจะเป็นทำบุญซำฮะ(ล้าง) หรือบุญบูชาบรรพบุรุษ มีการเซ่นสรวงหลักเมือง หลักบ้าน ปู่ตา ผีตาแฮก ผีเมือง เป็นการทำบุญเพื่อระลึกถึงผู้มีพระคุณ ส่วน เดือนแปดเป็นทำบุญเข้าพรรษาซึ่งเป็นประเพณีทางพุทธศาสนาโดยตรง ลักษณะการจัดงานจึงคล้ายกับทางภาคอื่นๆ ของประเทศไทย และ เดือนเก้า ประเพณีทำบุญข้าวประดับดินเป็นการทำบุญเพื่ออุทิศแก่ญาติผู้ล่วงลับ เพื่อบูชาผีบรรพบุรุษและผีไร้ญาติ

                ประเพณีทำบุญข้าวสากหรือข้าวสลาก (สลากภัตร) ตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบ จึงเรียกว่า ฮีตเดือนสิบ ผู้ถวายจะเขียนชื่อของตนลงในภาชนะที่ใส่ของทานและเขียนชื่อลงในบาตร เพื่อเป็นการอุทิศให้แก่ผู้ตาย
                เดือนสิบเอ็ด ประเพณีทำบุญออกพรรษา ในวันขึ้นสิบห้าค่ำเดือนสิบเอ็ด พระสงฆ์จะแสดงอาบัติ ทำการปวารณา คือ การเปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ต่อมาเจ้าอาวาสหรือพระผู้ใหญ่จะให้โอวาทเตือนพระสงฆ์ให้ปฏิบัติตนอย่างผู้ทรงศีล และเดือนสิบสอง จะมีการทำบุญกองกฐินโดยเริ่มตั้งแต่วันแรมหนึ่งค่ำ เดือนสิบเอ็ดถึงกลางเดือนสิบสองจึงมักจะเรียกบุญกฐินว่า บุญเดือนสิบสอง